จบปัญหา ‘นั่งทั้งวัน งานไม่เสร็จ’ ด้วย 8 วิธีดึงสติให้อยู่กับงานตรงหน้า
ใครที่บ่นจังเรื่องไม่มีสมาธิทำงาน ไม่ว่าจะประเภทมาตั้งแต่เช้า นั่งหน้าจอแทบไม่ได้ลุก แต่งานกลับไปไม่ถึงไหน หรือบางคงก็นั่งงงในดงไฟล์ สับสนว่าต้องทำอันไหน หรือหยิบงานอะไรก่อน ฯลฯ สำหรับใครที่ประสบภาวะเช่นนี้ เชื่อเถอะว่า คุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว เพราะปัญหาภาวะ “สมาธิสั้น” ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลนี้ เป็นกันทั่วโลก ที่เต็มไปด้วยคนที่รออะไรไม่ค่อยจะได้ แถมยังไม่มีสามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งได้นานๆ ส่งผลให้วันนี้มนุษย์เราสามารถแซงหน้าแชมป์อันดับหนึ่งเรื่องสมาธิสั้นอย่างปลาทองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลวิจัยจากไมโครซอฟท์เมื่อปี 2015 ระบุว่า มนุษย์มีความสนใจระยะสั้น (Attention Span) เพียงแค่ 8 วินาที น้อยกว่าปลาทองที่สนใจอะไรๆ ได้ 9 วินาทีเสียอีก
Alyson Gausby หัวหน้าทีมวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคแห่งไมโครซอฟท์ แคนาดา อธิบายถึงธรรมชาติของสมองมนุษย์ว่า เพื่อความอยู่รอด สมองของเรามักจะคอยสอดส่องหาสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นรอบตัว
และไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่ยุคสมัย สัญชาตญาณการเอาตัวรอดยังคงอยู่ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เคลื่อนไหว มันจะเรียกความสนใจจากมนุษย์ได้เสมอ แต่สำหรับวันนี้ เมื่อเราต้องการจะมีสมาธิจดจ่อโดยไม่วอกแวกไปกับสิ่งเร้ารอบตัว เราจะทำได้หรือไม่ ถ้ามันจะเป็นการฝืนธรรมชาติที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม ?
Elie Venezky ผู้เขียนหนังสือ Hack Your Brain เฉลยไว้ว่า ‘สมาธิ’ ก็เหมือน ‘กล้ามเนื้อ’ ที่คุณสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ เขาบอกว่า ก้าวแรกและเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดในการตั้งสมาธิ ก็คือ เปลี่ยนมุมมอง “คนจำนวนมากหมกมุ่นไปกับความคิดที่ว่า เขาไม่มีสมาธิ แล้วสิ่งนี้ก็ถือเป็น Self-Fulfilling Prophecy (การพยากรณ์ที่ย้ำความเชื่อของตน หรือการพยากรณ์ที่ตนดลให้เป็นจริง) แต่เมื่อคุณทิ้งความเชื่อผิดๆ ไป เป้าหมายของการสร้างสมาธิก็จะเป็นจริงขึ้นมาได้” Venezky กล่าว
นี่คือเคล็ดลับ 8 ข้อที่จะช่วยให้เราสามารถจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างเต็มที่..
1. เตรียมพร้อมให้กับสมอง อันดับแรก คือ ขอให้สร้างความสงบผ่อนคลายให้กับสมองก่อนที่จะเริ่มต้นทำงาน โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งหรือสองนาที นั่งในมุมที่ผ่อนคลาย สูดลมหายใจเข้าท้องลึกๆ ไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิหรือสวดมนต์อะไรทั้งสิ้น แค่ทำร่างกายให้ผ่อนคลายก่อนเริ่มงาน มันก็จะช่วยให้ง่ายต่อการจดจ่อในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ง่ายขึ้นแล้ว
2. มองให้ชัดว่า ต้องการจะโฟกัสในเรื่องไหน ท่ามกลางสิ่งต่างๆ มากมายที่วุ่นวายอยู่รอบตัวเรา Ron Webb ผู้บริหารของ American Productivity and Quality Center ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านประสิทธิภาพ ผลิตภาพการทำงาน แนะนำให้ชี้ให้ชัดเสียก่อนว่า สิ่งไหนควรที่คุณจะต้องใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นปี เป็นเดือน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นวัน จากนั้นก็จัดการกับปฏิทินของคุณโดยกันเวลาไว้เพื่อสิ่งนั้นๆ และกำจัดพฤติกรรมผิดๆ เช่น การส่งปฏิทินคำเชิญในนาทีสุดท้าย หรือทำอะไรที่ไม่เร่งด่วน ออกเสีย เพราะนั่นถือเป็นศัตรูสำคัญของสมาธิ
3. ออฟไลน์ตัวเองสัก 30 นาที ถ้าคุณต้องการมีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ขอให้ล็อกเอาท์อีเมล รวมถึงโซเชียลมีเดียทุกชนิด “ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นจะตายกับอีเมล ก็จงล็อกเอาท์ทั้งหมดสัก 30 นาที อาจจะเป็นช่วงเช้าตอนเริ่มงาน หรือตอนบ่ายก็ได้” Jan Bruce ผู้ร่วมเขียนหนังสือ meQuilibrium: 14 Days to Cooler, Calmer, and Happier ให้คำแนะนำไว้แบบนี้ “แล้วคุณจะตกใจว่า คุณสามารถเคลียร์งานได้มากขนาดไหนเมื่อคุณไม่ขัดจังหวะตัวเองด้วยการตอบอีเมล” เธอยืนยันถึงผลลัพธ์
4. กาแฟหนึ่งแก้วก็ช่วยได้ไม่น้อย ทราบหรือไม่ว่า กาแฟไม่ได้แค่ช่วยให้คุณรู้สึกตื่นในตอนเช้าเท่านั้นนะ แต่มันยังช่วยให้คุณสามารถมีสมาธิได้อีกด้วย งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Alzheimer’s Disease นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส Astrid Nehlig ชี้ชัดว่า ถ้าคุณต้องการจะจดจ่อหรือเร่งเครื่องตัวเองในช่วงบ่าย เดินไปสั่งกาแฟสักแก้วมาจิบ คือ วิธีการที่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยถึงแม้ว่า คาเฟอีนจะไม่ได้ช่วยเรื่องการเรียนรู้ หรือทำให้ความจำดีขึ้น แต่สิ่งที่เนลิกค้นพบคือ กาแฟสามารถให้คุณไขว้เขวน้อยลง และมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ต้องทำตรงหน้าได้ดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
5. อุณหภูมิก็มีผลต่อสมาธินะ! อุณหภูมิในห้องที่คุณทำงานอยู่ ไม่ว่าจะร้อนเกินไป หรือหนาวเกินไป ก็ล้วนแต่มีผลต่อสมาธิการทำงานได้ทั้งนั้น ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์พบว่า พนักงานจะสามารถทำงานได้ดีที่สุด โดยผิดพลาดน้อยที่สุดในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิระหว่าง 68-77 องศาฟาเรนไฮต์ (20-25 องศาเซลเซียส) ส่วนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ก็ระบุถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดว่าอยู่ที่ 71 องศาฟาเรนไฮต์ (21.6 องศาเซลเซียส) แม้ว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมจากทั้งสองผลวิจัยนี้จะไม่ได้เหมาะกับการปรับใช้ในเมืองไทย แต่ใจความสำคัญก็คือ “อุณหภูมิที่เหมาะสม” ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไปนั่นเอง แล้วมันก็ไม่ใช่ข้ออ้างนะ! ถ้าจะบอกว่า ก็ออฟฟิศแอร์ไม่เย็นเลย ทำงานไม่ได้ ขี้เกียจต่อดีกว่า Zzz .. เพราะมันสามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองได้ง่ายๆ แค่มีพัดลมหรือเสื้อกันหนาวติดไว้ที่โต๊ะทำงาน เท่านี้ก็เป็นอันแก้ปัญหาได้แล้ว
6. เปิดเพลงฟังโปรดด้วยสิ รับรองงานฉลุย! เมื่อรอบตัวมีเสียงรบกวนมากจนทำให้ไม่มีสมาธิ Wake Forest School of Medicine และ University of North Carolina ได้ตีพิมพ์งานวิจัยใน Scientific Reports โดยระบุว่า การฟังเพลงจะช่วยให้คุณมีสมาธิกับความคิดของคุณ แต่จะให้ดีต้องเป็นเพลงที่คุณชอบด้วยนะ ส่วนจะแนวไหน สไตล์อะไร ได้ทั้งนั้น คุณจะเปิดเบโธเฟ่น เดอะบีทเทิลส์ แบล็คพิงค์ หรือใดๆ ก็ตามแต่ ล้วนได้ผลทั้งนั้น ถ้ามันเป็นเพลงที่คุณชอบ
7. พักบ้าง อะไรบ้าง แทนที่จะยกธงขาวยอมแพ้แก่สิ่งเร้ารอบตัว มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยนักจิตวิทยา Alejandro Lleras บอกว่า ผู้ร่วมทดสอบที่ได้หยุดพัก เดินออกจากงานตรงหน้าไปราวๆ 50 นาที สามารถกลับมาทำงานได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้หยุดพัก งานวิจัยดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผ่อนบ้างอะไรบ้างย่อมดีกว่านั่งทำงานไปทั้งๆ ที่ไม่มีสมาธิ โดยระบุว่า การพักครึ่งระหว่างการทำงานที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถือเป็นการรีชาร์จสมองได้อย่างดี เมื่อเราต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ดีที่สุดคือต้องกำหนดเวลาพักเบรคสั้นๆ ให้กับตัวเอง โดยการได้หยุดจากงานเพื่อผ่อนคลายจิตใจ แม้เพียงชั่วครู แต่ก็จะช่วยให้คุณกลับมาโฟกัสกับงานได้ดีมากขึ้น
8. มาเป็นศิลปินกันเถอะ! ถ้าคุณจำเป็นต้องนั่งนิ่งๆ ประชุมอย่างยาวนาน คุณสามารถฝึกสมาธิไปพร้อมๆ กับพัฒนาทักษะทางศิลปะด้วยการวาดขีดๆ เขียนๆ หรือที่เรียกว่า Doodle ไปพร้อมๆ กันได้ จากงานวิจัยโดยUniversity of Plymouth ประเทศอังกฤษ พบว่า การวาดรูปมั่วๆ หรือ ดูเดิ้ล สามารถช่วยในประสิทธิภาพในการรับรู้ และการจดจำให้ดียิ่งขึ้น
“การวาดดูเดิลสามารถช่วยให้การไขว้เขวจากสิ่งเร้าลดลงได้ โดยช่วยให้คนตื่นตัว แม้จะอยู่ในการประชุมที่น่าเบื่อได้” Jackie Andrade หัวหน้าทีมการวิจัยกล่าว
ที่มา : fastcompany